พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕

  • แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ( ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๕๓๕
  • ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
  • ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๐๕ เป็นปีที่ ๑๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
  • และให้ไว้ ณ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ เป็นปีที่ ๔๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่าโดยที่ เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นจึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ตรา พระราชบัญญัติไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕“

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔

มาตรา ๔ ภายในระยะเวลาหนึ่งปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บรรดากฎกระทรวง สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ที่ใช้บังคับ อยู่ในวันประกาศพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุเบกษา ให้คงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระ ราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้จนกว่าจะมีกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคมพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับหรือ ระเบียบของมหาเถรสมาคม ยกเลิก หรือมีความอย่างเดียวกันหรือขัดหรือแย้งกันหรือกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา ๕ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา ๔ บรรดาอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในสังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุ ตำแหน่งใดหรือคณะกรรมการสงฆ์ใด ซึ่งไม่มีในพระราชบัญญัตินี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจกำหนดโดย กฎมหาเถรสมาคมให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพระภิกษุตำแหน่งใดรูปใดหรือหลายรูปร่วม กันเป็นคณะตามที่ เ ห็นสมควรได้

มาตรา ๕ ทวิ ในพระราชบัญญัตินี้

“คณะสงฆ์” หมายความว่า บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจใน หรือนอกราชอาณาจักร

  • “คณะสงฆ์อื่น” หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย หรืออนัมนิกาย
  • “พระราชาคณะ” หมายความว่า พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้นสามัญจนถึง ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ
  • “สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” หมายความว่า สมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับสถาปนา ก่อนสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ถ้าได้รับสถาปนาในวันเดียวกันให้ถือรูปที่ได้รับสถาปนาในลำดับก่อน

มาตรา ๕ ตรี พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนาและถอดถอนสมณศักดิ์ของ พระภิกษุในคณะสงฆ์

มาตรา ๖ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มี อำนาจออก กฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้  กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

* มาตรา ๕ ทวิและมาตรา ๕ ตรี บัญญัติขึ้นโดยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญัติคณะสงฆ์ ( ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๕๓๕

หมวด ๑ สมเด็จพระสังฆราช

มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอ นามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติ หน้าที่ได้ให้นายกรัฐมนตรีโดย ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดย สมณศักดิ์รองลงมา ตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

มาตรา ๘ สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์และทรงตรา พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม

มาตรา ๙ ใน กรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงลาออกจากตำแหน่งหรือพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณา โปรดให้ ออกจากตำแหน่ง พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสมเด็จพระสังฆราชหรือ ตำแหน่งอื่นใด ตามพระราชอัธยาศัยก็ได้

มาตรา ๑๐ ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์เป็นผู้ ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ถ้าสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมที่ เหลืออยู่เลือกพระราชาคณะรูปหนึ่งผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราช จะได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน

ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามวรรคสาม หรือสมเด็จพระราชาคณะซึ่ง ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้นำความ ในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

* มาตรา ๗ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน

* มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน ให้รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนามสมเด็จ พระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรานี้ในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

  • (๑) มรณภาพ
  • (๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
  • (๓) ลาออก
  • (๔) ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก

หมวด ๒ มหาเถรสมาคม

มาตรา ๑๒ มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดย ตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมี จำนวนไม่เกินสิบสองรูปเป็นกรรมการ

* มาตรา ๑๒ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน

มาตรา ๑๓ ให้ผอ.สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งและให้ สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

มาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

มาตรา ๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

  • (๑) มรณภาพ
  • (๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
  • (๓) ลาออก
  • (๔) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก

ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้ง พระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง เป็นกรรมการ แทนกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคก่อน อยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา ๑๕ ทวิ การแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมตามมาตรา ๑๒ และการให้กรรมการ มหาเถรสมาคมพ้น จากตำแหน่งตามมาตรา ๑๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบัญชาสมเด็จ- พระสังฆราช

มาตรา ๑๕ ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • (๑) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม
  • (๒) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร
  • (๓) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณ- สงเคราะห์ของคณะสงฆ์
  • (๔) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
  • (๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือ ออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้และจะมอบให้พระภิกษุ รูปใดหรือ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๙ เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้

มาตรา ๑๕ จัตวา เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคม จะตรากฎมหาเถรสมาคมเพื่อกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครอง สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองของคณะสงฆ์ก็ได้

พระภิกษุและสามเณรที่ได้รับโทษตามวรรคหนึ่ง ถึงขั้นให้สละสมณเพศต้องสึกภายในสามวันนับแต่วัน ทราบคำสั่งลงโทษ

* มาตรา ๑๕ ทวิ มาตรา ๑๕ ตรี และมาตรา ๑๕ จัตวา บัญญัติเพิ่มขึ้นโดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

มาตรา ๑๖ ในกรณีที่ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมไม่อาจมาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมมหา เถร- สมาคมและมิได้มอบหมายให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทน ให้สมเด็จ พระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นผู้ปฏิบัติ หน้าที่แทน

* มาตรา ๖ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ ให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน

มาตรา ๑๗ การประชุมมหาเถรสมาคมต้องมีกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการโดยการแต่งตั้งรวม กันมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ระเบียบการประชุมมหาเถร- สมาคมให้เป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม

มาตรา ๑๘ ใน กรณีที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง ให้ถือว่ามหาเถรสมาคม มีกรรมการเท่าจำนวนที่เหลืออยู่ในขณะนั้น

มาตรา ๑๙ สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ตามมติมหา- เถรสมาคมประกอบด้วยพระภิกษุหรือบุคคลอื่นจำนวนหนึ่งมีหน้าที่พิจารณากลั่น กรองเรื่องที่จะเสนอต่อ มหาเถรสมาคมและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมายโดยขึ้นตรงต่อมหา เถรสมาคม

การจัดให้มีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการฝ่ายต่าง ๆ การแต่งตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการหรืออนุกรรมการ และระเบียบการประชุมให้เป็นไปตามระเบียบ มหาเถรสมาคม

หมวด ๓ การปกครองคณะสงฆ์

มาตรา ๒๐ คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม

มาตรา ๒๐ ทวิ เพื่อประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีเจ้าคณะใหญ่ปฏิบัติ หน้าที่ในเขตปกครองคณะสงฆ์

การแต่งตั้งและการกำหนดอำนาจหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดใน กฎมหาเถรสมาคม

* มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน

*มาตรา ๒๐ ทวิ บัญญัติเพิ่มขึ้นโดยมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ.๒๕๓๕

มาตรา ๒๑ การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้จัดแบ่งเขตปกครองดังนี้

  • (๑) ภาค
  • (๒) จังหวัด
  • (๓) อำเภอ
  • (๔) ตำบล

จำนวนและเขตปกครองดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม

มาตรา ๒๒ การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค ให้มีพระภิกษุเป็นผู้ปกครองตามชั้นตามลำดับ ดังต่อไปนี้

  • (๑) เจ้าคณะภาค
  • (๒) เจ้าคณะจังหวัด
  • (๓) เจ้าคณะอำเภอ
  • (๔) เจ้าคณะตำบล

เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นสมควรจะจัดให้มีรองเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะอำเภอ และ รองเจ้าคณะตำบล เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะนั้น ๆ ก็ได้

มาตรา ๒๓ การแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระภิกษุอัน เกี่ยวกับตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ๆ และไวยาวัจกรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม

หมวด ๔ นิคหกรรมและการสละสมณเพศ

มาตรา ๒๔ พระภิกษุจะต้องรับนิคหกรรมก็ต่อเมื่อกระทำการล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและ นิคหกรรม ที่จะลงแก่พระภิกษุก็ต้องเป็นนิคหกรรมตามพระธรรมวินัย

มาตรา ๒๕ ภาย ใต้บังคับมาตรา ๒๔ มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้การลงนิคหกรรมเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม และให้ถือว่า เป็นการชอบด้วยกฎหมายที่มหาเถรสมาคมจะกำหนดในกฎมหาเถรสมาคมให้มหาเถรสมาคม หรือ พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งใดเป็นผู้มีอำนาจลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้ล่วง ละเมิดพระธรรมวินัยกับทั้ง การกำหนดให้การวินิจฉัยการลงนิคหกรรมให้เป็นอันยุติในชั้นใด ๆ นั้นด้วย

มาตรา ๒๖ พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด ให้ได้รับนิคหกรรม ถ้าให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น

มาตรา ๒๗ เมื่อพระภิกษุรูปใดต้องด้วยกรณีข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • (๑) ต้องคำวินิจฉัยตามมาตรา ๒๕ ให้ได้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึกแต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น
  • (๒) ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ
  • (๓) ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง
  • (๔) ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

* มาตรา ๒๗ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน

ให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม พระภิกษุผู้ต้อง คำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามวรรคสอง ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น

มาตรา ๒๘ พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวันนับแต่ วันที่คดีถึงที่สุด

มาตรา ๒๙ พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงาน- อัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใด วัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้

มาตรา ๓๐ เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลมีอำนาจดำเนินการให้ พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น

หมวด ๕ วัด

มาตรา ๓๑ วัดมีสองอย่าง

  • (๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
  • (๒) สำนักสงฆ์

ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป

* มาตรา ๓๑ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ ให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน

มาตรา ๓๒ การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย การยุบเลิกวัด และการขอรับพระราชทาน
วิสุงคามสีมา ให้ เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณียุบเลิกวัด ทรัพย์สินของวัดที่ถูกยุบเลิกให้ตกเป็น ศาสนสมบัติกลาง

มาตรา ๓๒ ทวิ วัดใดเป็นวัดร้างที่ไม่มีพระภิกษุอยู่อาศัย ในระหว่างที่ยังไม่มีการยุบเลิกวัด ให้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาวัดนั้น รวมทั้งที่วัดที่ธรณีสงฆ์และทรัพย์สินของวัดนั้นด้วย

การยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

*มาตรา ๓๒ ทวิ บัญญัติเพิ่มขึ้นโดยมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

มาตรา ๓๓ ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัด มีดังนี้

  • (๑) ที่วัด คือ ที่ซึ่งตั้งวัด ตลอดจนเขตของวัดนั้น
  • (๒) ที่ธรณีสงฆ์ คือ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด
  • (๓) ที่กัลปนา คือ ที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา

มาตรา ๓๔ การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่เป็นกรณีตามวรรคสอง

การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่น ของรัฐ เมื่อมหาเถรสมาคมไม่ขัดข้องและได้รับค่าผาติกรรมจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานนั้น แล้ว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา

ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดหรือกรมการศาสนา แล้วแต่กรณีในเรื่องทรัพย์สินอันที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง

มาตรา ๓๕ ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี

* มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน

มาตรา ๓๖ วัดหนึ่งให้มีเจ้าอาวาสรูปหนึ่ง และถ้าเป็นการสมควรจะให้มีรองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วยก็ได้

มาตรา ๓๗ เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้

  • (๑) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี
  • (๒) ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัด นั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม
  • (๓) เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
  • (๔) ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล

มาตรา ๓๘ เจ้าอาวาสมีอำนาจดังนี้

  • (๑) ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด
  • (๒) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด
  • (๓) สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัด ทำงานภายในวัดหรือให้ทำทัณฑ์บน หรือให้ ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาส ซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วย พระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม

มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส

การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม

หมวด ๖ ศาสนสมบัติ

มาตรา ๔๐ ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท

  • (๑) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง
  • (๒) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง

การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติกลาง ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนา เพื่อการนี้ ให้ถือว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเจ้าของศาสนสมบัติกลางนั้นด้วย

การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๔๑ ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำงบประมาณประจำปีของศาสนสมบัติกลางด้วยความเห็นชอบ ของ มหาเถรสมาคม และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้งบประมาณนั้นได้

หมวด ๗ บทกำหนดโทษ

มาตรา ๔๒ ผู้ใดมิได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ หรือถูกถอดถอนจากความเป็นพระอุปัชฌาย์ ตามมาตรา ๒๓ แล้ว กระทำการบรรพชาอุปสมบทแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี

* มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ และมาตรา ๔๔ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ใช้ความดังที่พิมพ์ไว้แทน

มาตรา ๔๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๕ จัตวา วรรคสอง มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ วรรคสาม หรือมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี

มาตรา ๔๔ ผู้ใดพ้นจากความเป็นพระภิกษุเพราะต้องปาราชิกมาแล้วไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยตาม มาตรา ๒๕ หรือไม่ ่ก็ตาม แต่มารับบรรพชาอุปสมบทใหม่ โดยกล่าวความเท็จหรือปิดบังความจริงต่อพระอุปัชฌาย์ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี

มาตรา ๔๔ ทวิ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราชต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๔๔ ตรี ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่นอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความ แตกแยก ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๔๔ ทวิ และมาตรา ๔๔ ตรี บัญญัติเพิ่มขึ้นโดยมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

หมวด ๘ เบ็ดเตล็ด

มาตรา ๔๕ ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และ ไวยาวัจกร เป็น เจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๔๖ การปกครองคณะสงฆ์อื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

*มาตรา ๔๖ ความเดิมถูกยกเลิกโดยมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และให้ใช้ ความดังที่พิมพ์ไว้แทน

หมายเหตุ

๑. ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ได้บัญญัติเพิ่มเติมอีก ๔ มาตรา คือ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ ดังนี้

มาตรา ๑๘ บรรดากฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคมที่ออกตามพระ ราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๙ วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๐ ให้พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งและสถาปนาให้มีสมณศักดิ์อยู่ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ยังมีสมณศักดิ์นั้นต่อไป

ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ กรรมการ หรืออนุกรรมการใด ตามพระราชบัญญัติ คณะ สงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ หรือตามกฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่ง ของมหาเถรสมาคมซึ่งออกตาม ความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ยังคงดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระการดำรงตำแหน่ง หรือจนกว่ามหาเถรสมาคมจะมีมติเป็นประการอื่น

มาตรา ๒๑ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

๒. ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

๒.๑ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และ ๒.๒ นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๓๕

คำค้น
1
บทความอื่นๆในหมวดนี้